การประชุมและนิทรรศการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 หรือ SETA 2016 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23- 25 มีนาคม 2559 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนสำคัญจากหน่วยงานสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน จากทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ โดยหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดการดังกล่าวหน่วยงานหนึ่ง คือ สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจ เพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก หรือ ERIA (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia) ซึ่งเป็น หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยในเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนและเอเชียตะวันออก ซึ่ง พลังงานก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ ERIA ให้ความสำคัญ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเรื่องที่มีบทบาทในการลดช่องว่างระหว่างประชาชน ในภูมิภาคและสร้างกลุ่มชนชั้นกลางให้มีมากขึ้น โดยการพัฒนาด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานที่ยั่งยืน จะเป็นกลจักรสำคัญที่ จะผลักดันการพัฒนาให้เกิดขึ้นในภูมิภาคได้
โดยในงาน SETA 2016 นี้ นายฮิเดโตชิ นิชิมูระ ผู้อำนวยการบริหาร ERIA จะเป็นหนึ่งในผู้กล่าวปาฐกถาสำคัญ และ SETA 2016 จะเป็นเวทีแรกที่จะกล่าวถึงแนวทางของกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออก ในการปฏิบัติตามความ ตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งได้รับการรับรองจากผู้แทน 196 ประเทศที่ร่วมประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของ สภาพอากาศโลกครั้ง ที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส โดยความตกลงปารีสว่าด้วยการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนนี้ มีเป้าหมาย หลัก 3 ประการ คือ จำกัด ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกินระดับ 2 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติ อุตสาหกรรม ส่งเสริมการพัฒนาสังคม คาร์บอนต่ำ ในลักษณะที่ไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร และจัดทิศทางการลงทุนที่ สอดคล้องกับแนวทางสู่การพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความครอบคลุมที่สุด นับตั้งแต่การจัดทำพิธีสารเกียวโตเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา
จึงเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศไทยเอง จะมีแนวทางในการดำเนินการในด้านพลังงาน ตามแนวทางของข้อตกลงจาก COP21 อย่างไร
ทั้งนี้ ผู้แทนของ ERIA คือ Dr. Venkatachalam Anbumozhi จะนำเสนอรายงานในหัวข้อย่อยเรื่อง “Aligning Renewable Energy Development with Low Carbon Pathway in Asia” ที่จะกล่าวถึงการเชื่อมโยงการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของความตกลงปารีส
นอกจากนั้น ERIA ยังเป็นผู้สนับสนุนการสัมมนาในหัวข้อ Regional Energy Integration in ASEAN: How to Achieve Integration? ซึ่งจะอภิปรายว่าทำอย่างไร การบูรณาการพลังงานในภูมิภาคอาเซียนจึงจะประสบความความสำเร็จ โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ Ir. Dr. Sanjayan Velautham, Executive Director, ASEAN Center for Energy (ACE), H.E.Viraphonh Viravong, Vice Minister of Energy and Mines, Laos PDR และ ศ.ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถเข้ารับฟังการอภิปรายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ทั้งนี้ ในงาน SETA 2016 จะมีการประชุมสัมมนาในหัวข้อหลัก 4 หัวข้อ ได้แก่ นโยบายและแผนพลังงาน (Energy Policy and Planning) ด้านเทคโนโลยีระบบพลังงานไฟฟ้า (Electrical Systems Technology) การขนส่งและพลังงานทางเลือก (Transportation and Alternative Fuels) และ พลังงานที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Energy and Green Technology) พร้อมมีการแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานควบคู่ไปด้วย อาทิ เทคโนโลยีสะอาด หรือ Clean Technology เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยีทางด้านนิวเคลียร์และถ่านหินจากประเทศต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย เป็นต้น
SETA 2016 จัดโดยกระทรวงพลังงานและสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนรายอื่นๆ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO, การไฟฟ้านครหลวง, กลุ่ม ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ราชบุรี
โฮลดิ้งส์ กลุ่มเอสซีจี (SCG) SIEMENS Toyota และ BMW โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพลังงานทดแทนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจในภูมิภาค และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับพันธมิตรด้านพลังงานและเทคโนโลยี ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นราว 2,500 คน โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.seta.asia
****************************************************************************************************
The post ERIA หนุน SETA 2016 หารือภาวะโลกร้อน ต่อยอดข้อสรุป COP21 appeared first on SETA.