Quantcast
Channel: SETA 2018
Viewing all articles
Browse latest Browse all 96

กฟผ. เดินหน้าแผนพีดีพี 2015 สร้างมั่นคงไฟฟ้า

$
0
0

กฟผ.เชื่อต่างชาติเข้าใจแผนเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินควบคู่พัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสู่ความยั่งยืน

หวังงาน SETA2016 เป็นเวทีสร้างความมั่นใจในระดับนานาชาติ พร้อมผลักดันเชื่อมโยงระบบสายส่งอาเซียน

 

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แนวทางการวางแผนเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงาน ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับล่าสุด (พีดีพี2015) ที่ใช้ระหว่างปี 2558-2579 นั้น มุ่งเน้นในการสร้างสมดุลด้านพลังงาน โดยพยายามที่จะกระจายความเสี่ยงเรื่องของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จากปัจจุบันที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลักถึงเกือบร้อยละ 70 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 30 – 40 และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 – 25 ส่วนพลังงานทดแทนจะเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 15 – 20 ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานในทิศทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ การสร้างสมดุลพลังงานด้วยการลดความเสี่ยง โดยดูแลต้นทุนและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

 

นายสหรัฐกล่าวว่า หากประเทศไทยยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงเช่นในปัจจุบัน จะทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าและราคาค่าไฟฟ้า เนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะค่อยๆลดปริมาณลงและหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงกว่าเข้ามาทดแทน และจะทำให้ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถจัดการผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และประเทศที่พัฒนาแล้วให้การยอมรับ เข้ามาทดแทนมากขึ้น

 

นอกจากนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานหลักจากโรงไฟฟ้าฐาน อาทิ ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะในเขื่อนชลประทานขนาดเล็กที่ปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร โดย กฟผ. ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 7 โครงการ ได้พลังงานไฟฟ้า 70 – 80 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ทั้งหมดประมาณ 200 เมกะวัตต์

แต่ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งหลาย ยังไม่สามารถที่จะเพิ่มสัดส่วนได้มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ พลังงานจากชีวมวล (เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล) พลังงานแสงอาทิตย์ (มีเฉพาะช่วงกลางวันตามธรรมชาติ) พลังงานลม (มีเฉพาะช่วงเช้ามืด/ช่วงมรสุมตามธรรมชาติ) ดังนั้น ในช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจ่ายไฟฟ้าไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อรองรับความต่อเนื่องในการจ่ายไฟฟ้า เพราะปัจจุบัน แม้จะมีเทคโนโลยีที่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมไว้ใช้ได้ แต่ก็ยังมีราคาที่แพงมาก ซึ่งจะเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน โดยประเทศไทยยังคงต้องรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศและสามารถแข่งขันได้กับประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน

 

ทั้งนี้ กฟผ. จะได้ชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของไทยและการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในเวทีการจัดประชุมและนิทรรศการพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 (Sustainable Energy & Technology Asia 2016)  หรือ SETA 2016 ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการฯ ไบเทค ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคมนี้ โดยมี ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานกว่า 300   คนจาก 15 ประเทศ เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ด้านนโยบายพลังงาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานและการคมนาคม ขนส่ง โดยมี พล.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน น้ำ และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมของมาเลเซีย Dr. Maximus Johnity Ongkili จะได้กล่าวปาฐกถาบนเวทีในงานนี้ด้วย

 

“กฟผ. คาดหวังว่า งาน SETA 2016 นี้ จะเป็นเวทีที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ถึงแนวทางการพัฒนาไฟฟ้าของไทยที่มุ่งสร้างความสมดุลทั้งในส่วนของก๊าซ ถ่านหิน และพลังงานทดแทน เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต รวมถึงการผลักดัน ให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคเอเชีย” นายสหรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ ในงาน SETA 2016 นี้ กฟผ. ได้เตรียมส่งพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั่วเอเชีย อาทิ ASEAN Center for Energy (ACE), Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) และ Institute of Energy Economics, Japan (IEEJ) เป็นต้น และร่วมจัดนิทรรศการแสดงศักยภาพการดำเนินงานของ กฟผ. เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงานด้วย

นอกจากนั้น หนึ่งในหัวข้อสัมมนาที่จะมีการหารือกันในงานนี้ คือ การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคด้ ซึ่ง กฟผ. มีความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนภายใต้โครงการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า “อาเซียน พาวเวอร์ กริด” (ASEAN POWER GRID: APG) ซึ่งมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ 14 โครงการ มีลักษณะการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เช่น ไทย – ลาว ไทย – มาเลเซีย มาเลเซีย – อินโดนีเซีย เป็นต้น

 

“โครงการอาเซียน พาวเวอร์ กริด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าของทั้งอาเซียนรวมกันเป็นหนึ่งได้ และสามารถส่งถ่ายพลังงานจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ ในกรณีกำลังการผลิตสำรองอาจจะพัฒนาไม่ทัน ซึ่งในทางเทคนิคมีความเป็นไปได้ อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องราคา และการชดเชยการสูญเสียพลังงานในระบบ เนื่องจากการส่งพลังงานจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งผ่านระบบส่ง หากมีระยะไกลมากจะเกิดการสูญเสียในระบบ ประเด็นเหล่านี้จะต้องมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งนอกจากระบบส่งที่เชื่อมโยงกันแล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าของทุกประเทศจะต้องมี การกระจายอย่างเหมาะสม ดังนั้น โรงไฟฟ้าในภาคใต้ของไทยจึงถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะเชื่อมโยงอาเซียนเข้าด้วยกัน” นายสหรัฐกล่าว

 

*******************************************************************************************

 

The post กฟผ. เดินหน้าแผนพีดีพี 2015 สร้างมั่นคงไฟฟ้า appeared first on SETA.


Viewing all articles
Browse latest Browse all 96

Trending Articles